วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Braveheart

23 สิงหาคม พ.ศ. 1848 คือวันพิพากษา “วิลเลี่ยม วอลเลซ” วีรบุรุษของชาวสก๊อตแลนด์ ผู้นำการต่อสู้เพื่ออิสระภาพจากการรุกราน และการปกครองที่กดขี่ข่มเหงของอังกฤษจนได้รับ “เอกราช” และถูกยกย่องให้เป็น วีรบุรุษในประวัติศาสตร์ของสก็อตแลนด์ มาจวบจนเท่าทุกวันนี้

“เซอร์ วิลเลียม วอลเลซ” (Sir William Wallace) ตามตำนานไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ถือกำเหนิดเมื่อไหร่? ที่ไหน? อย่างไร? หากแต่ประมาณการได้ว่าเป็นปี พ.ศ.1813 และจากหลักฐาน “ตราประจำตัว” ที่ถูกค้นพบในภายหลังบ่งชี้ว่า เป็นบุตรคนเล็กของ “อลัน วอลเลซ” ขุนนางศักดินาแห่งอาร์ยไชร์ นอกจากนั้น จากพิพิธภัณฑ์ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ “เซอร์ วิลเลียม วอลเลซ” ในสก๊อตแลนด์ยังระบุประวัติความเป็นมาโดยสังเขปไว้ดังนี้

“วอลเลซ” เกิดในรัชสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์โดยปราศจากโอรสมาสืบทอดราชบัลลังก์ “เจ้าหญิงมาการ์เร็ต” ซึ่งเป็นพระราชนัดดาวัยเพียง 4 ชันษา จึงต้องขึ้นครองราชย์โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการแทน ต่อมา “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1” แห่งอังกฤษได้มีความพยายามจับคู่เจ้าหญิงกับโอรสของตนโดยอ้างเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างสก็อตแลนด์กับอังกฤษ หากแต่เจ้าหญิงซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 20 พรรษา กลับสิ้นพระชนม์เสียก่อน เหตุการณ์จึงตามมาด้วยความวุ่นวาย การแก่งแย่ง และการอ้างสิทธิในการครอบครองบัลลังก์

เนื่องจากสก็อตแลนด์ในยุคนั้น ถึงแม้จะมีกษัตริย์ปกครองตนเอง แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงอยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษ “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1” จึงถูกทูลเชิญให้มาร่วมตัดสินว่า ใครคือผู้ที่สมควรได้ครองบัลลังก์ สุดท้ายก็มาลงเอยที่ “จอห์น บาลิออล” เป็นผู้ถูกเลือกให้ขึ้นครองราชย์เป็นคนต่อมา แรกๆ บ้านเมืองก็ดูปกติดี แต่ในภายหลัง เพราะความต้องการแผ่อิทธิพล“พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1” ได้เข้ามาแทรกแซงการเมืองการปกครอง จนเป็นเหตุให้ประชาชนชาวสก็อตเดือนร้อน และเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งรุ่นแรงถึงขั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ยกทัพเข้าโจมตีและยึดเมืองไปได้ในที่สุด


ชาวสก็อตแลนด์ในยุคนั้น ถูกมองผ่านสายตาของอังกฤษว่า ขาดซึ่งความศิวิไลซ์ ด้อยพัฒนา จึงเป็นเหตุให้เกิดการบัญญัติ “กฏหมายการกลืนชาติ” โดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 อนุญาติให้ขุนนางของอังกฤษสามารถครอบครองที่ดินของชาวสก๊อตได้ และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ เจ้าสาวชาวสก๊อตที่แต่งงานวันแรกทุกคน ต้องผ่านการร่วมหลับนอนกับเหล่าขุนนางของชาวอังกฤษเสียก่อน เรื่อง “สิทธิมนุษยชน” เป็นอย่างไร ชั่วโมงนั้นไม่ต้องถามถึงให้ป่วยการ

แล้วสถานการณ์ก็สร้างวีรบุรุษตามสูตรสำเร็จ “วิลเลี่ยม วอลเลซ” ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคนี้…เขาคือผู้ปลุกเร้าชาวสก็อตให้ยืนหยัดลุกขึ้นสู้จากการถูกอังกฤษกดขี่ข่มเหง เขาคือผู้ปลุกกระแสความรักชาติให้เกิดแก่ชาวบ้านตาดำๆ ที่ไร้ซึ่งผู้นำ(โดยแท้จริง) ท่ามกลางความแตกแยกของราชวงค์สก็อต และเหล่าขุนนางซึ่งต่างพากันหันไปประจบสอพลอพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 เพื่อความอยู่รอด

“…ท่านจะทำอย่างไรเพื่อเอกราช…จะร่วมรบกับเราไหม…ถ้ารบท่านอาจตาย หนีท่านอาจรอด…อย่างน้อยก็สักพักหนึ่ง และนอนตายบนเตียง…แต่ถ้าท่านพร้อมจะแลกวันเหล่านั้นทั้งหมด…กับวันนี้เพื่อโอกาสเดียว…เอกราช” คือหนึ่งในประโยคปลุกเร้าที่ “วิลเลี่ยม วอลเลซ” ใช้และนำมาซึ่งชัยชนะในช่วงเริ่มต้นของการต่อสู้

ต่อมาไม่นาน “วิลเลี่ยม วอลเลซ” ก็สามารถปลดปล่อยเมืองกลาสโกว อเบอร์ดีน เพิร์ท สกอน ดันดี และที่ได้รับการกล่าวขานเป็นพิเศษคือ การสู้รบกับทหารอังกฤษที่ สะพานสเตอร์ลิง เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.1840 ซึ่งเล่ากันว่า กลศึกในคราวนั้น “วิลเลี่ยม วอลเลซ” มีไพร่พลแค่หยิบมือ หากแต่สามรถเอาชนะข้าศึกที่มีกำลังพลหมื่นกว่าคน โดยวิธีปล่อยให้ทหารอังกฤษตายใจแล้วเคลื่อนขบวนข้ามสะพานมาจนเกือบหมด จากนั้นจึงจู่โจมโต้กลับอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ทหารอังกฤษต่างพากันถอยล่นกลับคืน และอัดแน่นกันอยู่กลางสะพานจนหักและร่วงหล่นลงน้ำเสียชีวิตและพ่ายแพ้ในที่สุด

ผลพวงจากศึกในครั้งนี้ว่ากันว่า สร้างขวัญกำลังใจ ให้ชาวสก็อตลุกฮึดขึ้นสู้เพื่อชาติเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว นอกจากนั้นในการณ์นี้ “วิลเลี่ยม วอลเลซ” ยังได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางระดับ “เซอร์” โดย “พระเจ้าจอห์น บาลิออล” กษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์ ซึ่ง ณ ขณะนั้นถูกคุมขังอยู่ที่ลอนดอน แต่ถึงอย่างไรก็ทรงได้มอบหมายให้ “วิลเลี่ยม วอลเลซ” กอบกู้ชาติบ้านเมือง และได้รับการขนานนามว่าเป็น "ผู้พิทักษ์และแม่ทัพใหญ่แห่งสก็อตแลนด์"


หกเดือนต่อมา การแสดงศักยภาพในการรบด้วยกำลังพลที่มีอยู่ของ “วิลเลี่ยม วอลเลซ” ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายการโจมตีอังกฤษที่ทางตอนเหนือ วัตถุประสงค์ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงเขี้ยวเล็บของชาวสก็อตแลนด์ว่า ยังมีความแข็งแกร่ง ไม่ใช่ง่ายที่จะมารุกรานเหมือนเมื่อครั้งในอดีต

“ข้าจะบุกอังกฤษ…ทำไมจะเป็นไปไม่ได้ พวกท่านมัวห่วงแต่สมบัติ…ห่วงอำนาจที่รองแชงค์ (พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1) หยิบยื่นให้…จึงลืมไปว่า สมควรจะทำยังไงให้แก่ชาติบ้านเมือง” คือคำประกาศที่ “วิลเลี่ยม วอลเลซ” ฝากไว้กับเหล่าผู้ถูกสวมหัวโขนของราชวงศ์สก็อตแลนด์ในเวลานั้น

“พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1” ทรงกริ้วเป็นอย่างมาก ประกาศตามบดขยี้ข้าศึกชาวสก็อตอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ตัว “วิลเลี่ยม วอลเลซ”

งานนั้นว่ากันว่า “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1” เล่นแรงถึงขนาด “วิลเลี่ยม วอลเลซ” ต้องล่าถอยไปตั้งหลักพร้อมเข้าหาแนวร่วม(เท่าที่มีอยู่)คือ “โรเบิร์ต บรูซ เอิร์ล” แห่งคาร์ริก และ “จอห์น โคมิน “แห่งบาดอร์นอร์ค ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องเขยของ “พระเจ้าจอห์น บาลิออล” กษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์…ถึงแม้จะรู้ทั้งรู้ว่าทั้งสองคนนั้นยังคงปรองดอง(เพื่อความอยู่รอด)กับ “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1” แต่ “วิลเลี่ยม วอลเลซ” ก็หาได้มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้

สุดท้าย “วิลเลี่ยม วอลเลซ” ก็โดนหักหลังโดยเหล่าขุนนางสก็อตออกอุบายให้ไปพบเพื่อเจรจาเข้าร่วมเพื่อทำการศึก

5 สิงหาคม พ.ศ. 1848 “วิลเลี่ยม วอลเลซ” ถูกจับและตั้งข้อหาเป็นกบฏต่อราชบัลลังก์อังกฤษ แต่เขา…ก็มิได้ก้มหัวและยอมรับข้อกล่าวหาแต่ประการใด

“ข้ามิได้เป็นกบฏต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด เพราะข้าไม่ได้เป็นข้าแผ่นดินของอังกฤษ กษัตริย์ของข้าคือ พระเจ้าจอห์น บาลิออลแห่งสก็อตแลนด์พระองค์เดียวเท่านั้น”

23 สิงหาคม พ.ศ. 1848 ท่ามกลางฝูงชนที่ต่างมาชุมนุมดูการพิพากษา ณ ลานเมืองสาธารณะที่ตลาดสมิทฟีลด์ ร่างของ “วิลเลี่ยม วอลเลซ” นอนทอดยาวอยู่บนแท่นประหาร ในจำนวนนั้นมีกลุ่มผู้ร่วมอุดมการณ์ซึ่งแฝงตัวอยู่ รวมไปจนถึงชาวสก๊อตบางส่วนที่มีใจเป็นเสรีชน ต่างภาวนาให้เขายอมรับและร้องขออภัยโทษ เพื่อที่จะได้หลุดพ้นและไม่ต้องทรมานอีกต่อไป…หากแต่วลีสุดท้ายที่กู่ตะโกนสุดเสียงออกจากปากของ “วิลเลี่ยม วอลเลซ”…ก่อนที่คมมีดจะบั่นคอของเขาคือ

…อิสรภาพ…

กาลต่อมา ในวันที่ “โรเบิร์ต บรูซ เอิร์ล” แห่งคาร์ริก ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1” ให้ขึ้นครองราชย์สก็อตแลนด์ ต้องจัดทัพเพื่อไปเคารพและรับราชานุมัติสวมมงกุฏเป็นกษัตริย์จากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด“โรเบิร์ต” ถอดใจกับบัลลังก์เกียรติยศจอมปลอมที่ตนจะได้รับ จึงหันกลับไปยังกองทัพชาวสก็อตที่ตามมาและกล่าวว่า “พวกท่านเคยหลั่งเลือดร่วมกับวอลเลซ มาหลั่งเลือดกับข้าเถอะ…” เท่านั้นละครับ เหล่ากองทัพสก็อตต่างพร้อมใจตะโกนตอบรับ “วอลเลซ วอลเลซ วอลเลซ…” กันกึงก้อง

แล้วเหล่าทหารหาญของชาวสก็อตก็ลุกฮือขึ้นสู้อีกครั้งอย่างถวายชีวิต จนได้รับ “เอกราช” สมใจในเวลาต่อมา

ด้วยเหตุแห่งแรงบันดาลใจจาก “วิลเลี่ยม วอลเลซ” นั่นเอง…

Credit เรื่องทั้งหมด : http://www.okubon.com/index.php?option=com_content&view=article&id=7587%3A2011-01-26-04-29-56&catid=1016%3A2011-01-26-04-13-44&Itemid=90

Braveheart Trailer - 1995 HQ

http://www.youtube.com/watch?v=1cnoM8EiGGU

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น