วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

10 โรคชาน่ารู้ โดย น.พ.กฤษดา ศิรามพุช

คนไข้ที่มีอาการ “ชา” นี่น่าเห็นใจมากครับ ฟังดูเหมือนอาการชาเป็นสิ่งที่แย่น้อยกว่าอาการอื่น เช่นอาการปวด อาการลมชัก หรือช็อคไป เพราะเรามักคิดถึงอาการชาแบบ “เหน็บกิน” หรือชาเพราะอากาศหนาวจัด

แต่ชาแบบที่เป็นโรคนี่ทำให้รบกวนชีวิตประจำวันได้มากไม่แพ้อาการของโรคอื่นๆเลยครั
ยกตัวอย่างเช่น ชาจนจับปากกาเขียนหนังสือไม่ได้, ชาจนหยิบแก้วน้ำไม่มั่นพลัดตก

ฝรั่งมีคำเรียกอาการชาอยู่หลายแบบครับ

พิน แอนด์ นีดเดิ้ล(Pin and Needle) บ้าง คือชาแบบเหน็บๆมีเจ็บยุบยิบเหมือนเวลานั่งนาน

ชาแบบ โกลฟ แอนด์ สต็อกกิ้ง(Glove and Stocking) บ้าง คือชาหนาๆคล้ายใส่ถุงมือถุงเท้าหยิบจับอะไรเลยพาลไม่รู้สึก

นิยามชาของฝรั่งเขาเห็นภาพดีครับ เพราะมันตรงกับอาการของโรคหลายอย่างที่ทำให้เกิดอาการ “ชา” บางโรคทำให้อาการชาเกิดแล้วเป็นนานเรียกว่าชาอย่างช้าๆ

ถ้าแย่หน่อยคือ “ชาหนักขึ้น” เรื่อยๆ


10 โรคชาน่ารู้ ชาช้าช้า มากับโรค


โรคต่อไปนี้คือโรคที่มักลากอาการชามาด้วยได้ และหลายโรคทำให้เกิดอาการชาเรื้อรังถ้าไม่ระวังให้ดีครับ มีทั้งหมดอยู่ 10 โรคด้วยกัน


1)งูสวัด เป็นไวรัสชอบชามากเพราะมันพาตัวเองเข้าไปฝังอยู่ใน “ปมประสาท” อาจทำให้ชาเป็นแถบไปได้ ผมเคยมีคนไข้เป็นงูสวัดที่ก้นเลยลามให้ชาไปถึงบริเวณขาและอวัยวะเพศจนตกอกตกใจกัน ข้อเสียของชาแบบงู(สวัด)ก็คือมันมักทิ้งอาการชาไว้ให้เราเป็นควันหลงแม้แผลจะตกสะเก็ดแล้ว 

2)ไวรัสเริม เป็นญาติกับงูสวัดครับ จึงหนีไม่พ้นเส้นประสาที่ชอบ บางท่านมีเพียงอาการคันๆแสบๆแต่บางท่านก็มีอาการชาร่วมด้วย ไวรัสเริมชอบขึ้นที่ “เนื้ออ่อน” อย่างริมฝีปากกับอวัยวะสืบพันธุ์ ไม่ถึงกับอันตรายเพียงแค่ว่ามักเป็นขึ้นมาอีกบ่อยๆได้เท่านั้นเอง

3)หมอนรองทับเส้น หมอนในที่นี้ไม่ใช่หมอนทองแต่เป็นหมอนรองกระดูกที่เป็นแผ่นกระดูกอ่อนหยุ่นๆที่ปลิ้นไปมาได้เวลาที่เราก้มๆเงยๆและบิดหลัง เมื่อผิดท่าเข้าจังๆหมอนรองกระดูกจะปลิ้นผิดทางไปทับเส้น กลายเป็นอาการชาลงขาร่วมกับอาการปวด ท่านที่มีอาการชาลงขาแล้วปวดหลังขอให้นึกถึงหมอนรองบั้นเอวไว้ให้ดีครับ

4)นิ้วล็อค บ่องตงว่าเป็นโรคที่เกิดจาก “ความขยัน” ครับ โดยเฉพาะกับการ “หิ้วของ” อย่างสมัยนี้ที่นิ้วถูกรัดด้วยหูหิ้วจนเขียวคล้ำ อาการนิ้วล็อคเกิดจากปลอกรัดเอ็นหนาขึ้นจนไป “มัด” อัดนิ้วให้ล็อคอยู่อย่างนั้น ที่สำคัญคือมันไปมัดเส้นประสาทนิ้วได้จึงทำให้ชาครับ

5)พังผืดข้อมือ เป็นอาการชาที่ต้องสะบัดข้อมือกันยกใหญ่ คนไข้ที่มีพังผืดรัดข้อมือมักทำให้หยิบจับแก้วน้ำหรือของใช้ไม่สะดวก มักเกิดในผู้ที่ทำงานบ้าน,บิดข้อมือมาก,ซักผ้า,ถูบ้านหรือสับของต้องใช้ข้อมืออยู่ตลอดเวลาจะทำให้ชากลางฝ่ามือร้าวมาปลายนิ้วมือได้ พบได้ชั่วครั้งคราวใน “คุณแม่ตั้งท้อง” ด้วยครับ

6)กระดูกต้นคอ ถ้ามีปัญหาปวดบ่า ปวดไหล่ร้าวไปแขนขอให้นึกถึงกระดูกต้นคอมีปัญหาไว้ด้วยครับ มันทำให้มีอาการชาลงไปที่แขนและไปถึงบริเวณปลายมือได้ ท่านที่เคยมีอุบัติเหตุที่กระดูกต้นคอหรือยกของหนักมากมาก่อนมีโอกาสเกิดกระดูกต้นคอทับเส้นจนชาได้ครับ

7)เส้นประสาท 7 อักเสบ มีอาการชาหน้าครึ่งซีก ยังไม่พอครับพ่วงด้วยหน้าเบี้ยวอีกได้อีก อาการนี้เกิดจากความเครียดก็ได้หรือการติดเชื้อไวรัสเริมเข้าไปใน เส้นประสาทในหูก็ได้ครับ คนไข้จะไม่ชาอย่างเดียวแต่จะหลับตาไม่ได้ ยิ้มมุมปากเบี้ยว แต่โรคนี้สามารถหายได้ครับไม่ใช่อัมพฤกษ์-อัมพาตแต่อย่างใด

8 ) ขาดวิตามิน อาการชาจากการขาดวิตามินบีมักพบที่ปลายมือปลายเท้า ท่านที่ชามานานแล้วลองหาวิตามินบีปริมาณสูงรับประทานดูครับ จะเป็นวิตามินบีรวมก็ได้ ส่วนอาหารก็มีมากในข้าวกล้อง,ผักคะน้า,ธัญพืชและถั่วต่างๆครับ

9)เบาหวาน คนไข้เบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ดีจะมีอาการชาตามปลายมือและเท้าได้มาก หากน้ำตาลขึ้นลงบ่อยเกินไปจะทำให้เป็นแผลที่เกิดจากการชาได้ด้วย แผลเบาหวานที่เกิดจากชามักหายยาก มีโอกาสเสี่ยงเนื้อตายกว้าง(Gangrene)ได้สูงครับ

10)ไทรอยด์ต่ำ อาการต่อมไทรอยด์เป็นอีกเรื่องที่ต้องไม่มองข้ามเพราะไทรอยด์ช่วยในการเผาผลาญ การที่มันทำงานผิดปกติจะส่งผลให้เกิดอาการชาไปจนถึงเป็นเหน็บและตะคริวได้ ไทรอยด์มีส่วนคุมแร่ธาตุแคลเซียมที่มีผลกับการเป็นเหน็บชาได้ครับ

อาการชาดูเป็นเรื่องหยุมหยิมแต่ถ้าปล่อยไว้นานจะแก้ลำบากครับเพราะส่วนใหญ่เกี่ยวกับ “เส้นประสาท” จึงทำให้ถ้าเสียไปแล้วเสียเลย กลายเป็นอาการชาชั่วนิรันดร์ไป แม้ในกรณีที่ “ชาจากแพทย์” กล่าวคือถูกฉีดยาชา,บล็อกหลัง เหล่านี้ถ้ามีอาการผิดปกติเหลืออยู่ก็ควรรีบบำรุงเส้นประสาทตั้งแต่เนิ่นๆครับ เช่นกินวิตามินบี,น้ำมันปลาและหาคุณหมอเส้นประสาท เพราะแทนที่จะต้องทนชาไปนานๆก็จะช่วยร่นระยะเวลาลงมาได

บางทีอาการชาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับหลายท่านมาเป็นเวลานานมากจนแทบรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปก็อยากให้ลองแก้ดู

แม้เคยชินได้แต่อย่าให้เป็น “ชาชิน” ก็แล้วกันครับ

http://www.bangkokvoice.com/2013/07/01/bv-health-45/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น