วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

เปรูแจกโซลาเซลล์ ให้คนจน 2 ล้านคนใช้ไฟฟ้าฟรี


เปรูแจกโซลาเซลล์ ให้คนจน 2 ล้านคนใช้ไฟฟ้าฟรี

ในไทยรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือคนยากจน ด้วยการอุดหนุนราคาน้ำมันและแก๊ส รวมถึงให้ใช้ไฟฟ้าฟรีในปริมาณที่จำกัด แต่เปรู ประเทศเล็กๆในละตินอเมริกากลับก้าวไกลไปกว่านั้น ด้วยการที่รัฐบาลออกนโยบายติดตั้งแผงโซลาเซลล์ฟรีให้กับประชาชนที่ยากจน เพื่อให้คนเหล่านี้มีพลังงานไฟฟ้าใช้แบบฟรีๆ และยั่งยืน

ชื่อของโครงการนี้ เรียกแบบไทยๆ คงต้องเรียกว่า "โซลาเซล์เอื้ออาทร" เป็นอภิมหาโปรเจ็กที่นายโอยันตา อูมาลา ประธานาธิบดีเปรูตั้งใจมอบให้แก่คนจนที่สุด 2 ล้านคนในประเทศ หรือคิดเป็น 5 แสนครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารในหุบเขา หรือเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมเผ่าต่างๆ คนเหล่านี้อยู่ห่างไกลจากระบบสาธารณูปโภคทุกชนิด แม้แต่ความสะดวกสบายขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างไฟฟ้า โดยการจะทำเสาส่งไฟฟ้าและสายไฟ ก็จะเป็นการไม่คุ้มทุน เพราะหมู่บ้านยากจนเหล่านี้ตั้งอยู่บนเขาสูง และอยู่ห่างจากกันค่อนข้างมาก รัฐบาลจึงประเมินว่าการใช้โซลาเซลล์ เป็นวิธีกำเนิดไฟฟ้าที่คุ้มทุนที่สุด สะดวกสบายที่สุด

โดยโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วที่แรกในเมืองกอนตูมาเซ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ รัฐบาลได้ติดตั้งแผงโซลาเซลล์จำนวน 1,601 แผงให้กับหมู่บ้านที่ยากจนห่างไกล และประเมินไว้ว่า เมื่อโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์ 100% ก็จะทำให้ชาวเปรูกว่า 95% มีไฟฟ้าใช้ภายในปี 2016

การติดตั้งแผงโซลาเซลล์นี้ นอกจากจะทำให้ชาวเปรูจำนวนมากไม่ต้องใช้แสงสว่างจากตะเกียงน้ำมันให้เสียสุขภาพจากไอน้ำมันก๊าด ยังเป็นการกระตุ้นธรกิจผลิตโซลาเซลล์ในประเทศอีกด้วย เพราะโครงการนี้ใช้แผงโซลาเซลล์ที่ผลิตในเปรูทั้งหมด นอกจากนี้ ภายในสิ้นปีนี้ยังจะมีการประมูลบริษัทผู็ดูแลซ่อมแซมโซลาเซลล์เหล่านี้ ซึ่งก็จะทำให้เงินทุนหมุนเวียน ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากอีกด้วย

หลายๆคนอาจจะตั้งคำถามว่าเปรูเป็นประเทศเล็กๆ ทำไมถึงยังทำเรื่องที่เป็นรัฐสวัสดิการใหญ่ขนาดนี้ได้ แล้วประเทศใหญ่ๆ ทำไมถึงไม่ทำ เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะหลายประเทศในละตินอเมริกา รวมถึงเปรู เป็นประเทศแนวสังคมนิยม และมักมีนโยบายเอาใจประชาชนยากจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่แล้ว หลายๆคนอาจจะเรียกนโยบายแบบนี้ว่าประชานิยม แต่การที่ประชาชนได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล จนเลือกรัฐบาลนั้นต่อไปเรื่อยๆ ก็ดูจะไม่ได้เป็นเรื่องผิดแปลกอะไรในหลักการประชาธิปไตยสากล


ที่มา สมาคมผู้รับผิดชอบ ด้านพลังงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น